ข้อมูลพื้นฐานของรัฐเกรละ (updated 10/06/2015)

ข้อมูลพื้นฐานของรัฐเกรละ (updated 10/06/2015)

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 มิ.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 3 ต.ค. 2563

| 4,499 view

ข้อมูลพื้นฐานของรัฐเกรละ

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์

รัฐเกรละตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของสาธารณรัฐอินเดีย สถาปนารัฐเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๙ รู้จักกันในนาม “God’s Own Country” หรือดินแดนอันงดงามของพระเจ้า เนื่องจากมีภูมิประเทศที่สวยงาม และลำคลองที่เชื่อมโยงกับทะเลสาบน้ำกร่อย

รัฐเกรละมีอาณาเขตติดต่อกับ ๒ รัฐ โดยทิศเหนือและทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดกับรัฐกรณาฏกะ    ทิศตะวันออกและทิศใต้ติดกับรัฐทมิฬนาฑู ทิศตะวันตกติดกับรัฐทะเลอาราเบียน

รัฐเกรละมีพื้นที่ทั้งหมด ๓๘,๘๖๓ ตารางกิโลเมตร โดยมีชายฝั่งทะเลยาวรวม ๕๙๐ กิโลเมตร  ลักษณะภูมิประเทศของรัฐเกรละประกอบด้วยพื้นที่สูงในเขตฝั่งตะวันออก พื้นที่ราบสูงในเขตพื้นที่ตอนกลาง และเขตที่ราบในเขตพื้นที่ฝั่งตะวันตก และโดยที่รัฐเกรละตั้งอยู่ใกล้จุดศูนย์กลางของแผ่นเปลือกโลกอินเดีย (Indian tectonic plate) จึงอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหวและการระเบิดของภูเขาไฟได้

รัฐเกรละมีแม่น้ำรวมทั้งหมด ๔๔ สาย ส่วนใหญ่มีต้นกำเนิดจากเทือกเขา Ghat ตะวันตก โดยแม่น้ำ ๔๑ สายจะไหลลงสู่ที่ราบฝั่งตะวันตก ออกสู่ทะเลสาบและทะเลอาราเบียน ส่วนอีก ๓ สายไหลลงสู่ฝั่งตะวันออก  แม่น้ำสายสำคัญของรัฐเกรละ ได้แก่ แม่น้ำ Periyar แม่น้ำ Bharatapuzha แม่น้ำ Pamba แม่น้ำ Sharavathi แม่น้ำ Chaliyar และแม่น้ำ Chalakudy เป็นต้น  

รัฐเกรละแบ่งเขตการปกครองออกเป็น ๑๔ อำเภอ (District) โดยเมืองที่สำคัญของรัฐเกรละ ได้แก่ เมืองธิรุวะนันทปุรัม (Thiruvananthapuram) ซึ่งเป็นเมืองหลวง เมือง Kochi เมือง Kozhikode และเมือง Kollam

ขนาดพื้นที่

รัฐกรณาฏกะมีพื้นที่รวม ๓๘,๘๖๓ ตารางกิโลเมตร ถือเป็นรัฐที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ ๒๑ ของประเทศอินเดีย

ประชากร

ในปี ๒๕๕๘ รัฐเกรละมีประชากรรวมทั้งสิ้น ๓๓.๔๑ ล้านคน แยกเป็นประชากรชาย ๑๖.๐๒ ล้านคน และประชากรหญิงราว ๑๗.๓๘ ล้านคน โดยประชากรร้อยละ ๕๖.๒ นับถือศาสนาฮินดู  ร้อยละ ๒๔.๗ นับถือศาสนาอิสลาม และร้อยละ ๑๙ นับถือศาสนาคริสต์

ภูมิอากาศ

แม้รัฐเกรละตั้งอยู่ใกล้เขตเส้นศูนย์สูตร แต่ก็มีภูมิอากาศที่สบาย เนื่องจากอยู่ติดทะเลและเทือกเขา Ghat ตะวันตก และเทือกเขาทางฝั่งตะวันตกของรัฐก็ได้เป็นปราการอันดีที่กั้นลมร้อนที่พัดมาจากทางตอนเหนือของอินเดีย รวมทั้งกั้นลมมรสุม ส่งผลให้รัฐเกรละมีฝนตกเฉลี่ยปีละประมาณ ๓,๐๐๐ มิลลิเมตรต่อปี

อุณหภูมิเฉลี่ยของรัฐเกรละส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง ๒๘-๓๒ องศาเซลเซียส ช่วงฤดูร้อนของรัฐเกรละจะเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์จนถึงเดือนพฤษภาคม โดยอุณหภูมิในช่วงฤดูร้อนในบางพื้นที่อาจสูงถึง ๔๐ องศาเซลเซียส ส่วนช่วงฤดูมรสม แยกเป็นช่วงฤดูมรสมจากอิทธิพลลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จะเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนจนถึงเดือนกันยายน และฤดูมรสมจากอิทธิพลลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ จะเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมจนถึงเดือนพฤศจิกายน ขณะที่ฤดูหนาวจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ โดยอุณหภูมิในเขตที่สูงอาจต่ำกว่า ๑๐ องศาเซลเซียส

ทรัพยากรธรรมชาติ

 รัฐเกรละเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ที่สมบูรณ์ รวมทั้งมีความหลากหลายทางชีวภาพ และเป็นแหล่งแร่ธาตุที่สำคัญของอินเดีย โดยเฉพาะดินขาว  กราไฟท์ ทรายแก้ว เหล็ก และอะลูมิเนียม เป็นต้น ขณะที่ผลิตผลทางการเกษตรที่สำคัญของรัฐเกรละ ได้แก่ มะพร้าว ข้าว ยาง ชา กาแฟ มะม่วงหิมพานต์ พริก ขิง จันทน์เทศ มันเทศ  เป็นต้น

เมืองหลวงของรัฐเกรละ

เมืองธิรุวะนันทปุรัม (Thiruvananthapuram) เป็นเมืองหลวงของรัฐเกรละ เดิมชื่อตรีวันดรัม หรือ Trivandam เป็นเมืองหลวงของรัฐเกรละ มีพื้นที่รวม ๒๑๔.๘๖ ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ทางทิศใต้สุดของรัฐเกรละ ติดชายฝั่งทะเลด้านตะวันตก  

เมืองธิรุวะนันทปุรัม ได้ชื่อว่าเป็น “Evergreen City of India” และติดอันดับ ๑ ใน ๑๐ ของเมืองสีเขียวในประเทศอินเดีย นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษาของรัฐ และเป็นที่ตั้งของสถาบันวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ เช่น Indian Space Research Organization (ISRO)  Vikram Sarabhai Space Center (VSSC) และ Indian Institute of Space Science and Technology (IIST) เป็นต้น

เมืองธิรุวะนันทปุรัม มีประชากรรวม  ๒.๙๕ ล้านคน ถือเป็นเมืองที่มีประชากรมากเป็นอันดับที่ ๒๐ ของอินเดีย

การปกครอง  เมืองธิรุวะนันทปุรัม นอกจากจะเป็นเมืองหลวงของรัฐเกรละแล้ว ยังเป็นหนึ่งในเขตอำเภอ (District) ของรัฐเกรละ ซึ่งผู้ปกครองสูงสุดของเขตอำเภอธิรุวะนันทปุรัม คือ Thiruvananthapuram District Collector ซึ่งเป็นตำแหน่งผู้บริหารภาครัฐตำแหน่งสูงสุด ส่วนตัวเมืองธิรุวะนันทปุรัมนั้น มีการบริหารโดยเทศบาลเมือง (Chennai Corporation) ซึ่งมีนายกเทศมนตรี (Mayor) อยู่ในตำแหน่งผู้บริหาร

เมืองสำคัญในรัฐเกรละ

1. เมือง Kochi หรือ Cochin

เป็นเมืองท่าหลักของรัฐเกรละ และเมืองใหญ่เป็นลำดับสองทั้งในแง่ของประชากรและพื้นที่ของรัฐเกรละรองจากเมืองธิรุวะนันทปุรัม เมือง Kochi ถือเป็นเมืองรองระดับสอง (Tier II City) ของอินเดีย และเคยเป็นศูนย์กลางการค้าเครื่องเทศที่สำคัญของอินเดียมาตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๔  

เมือง Kochi เป็นเมืองที่ความสำคัญทางด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางจากในประเทศอินเดียและจากต่างประเทศมาเยือนมากที่สุดในรัฐเกรละ และอยู่ในลำดับที่หกของเมืองที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวมากที่สุดในอินเดีย อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง การผลิต การต่อเรือ การขนส่งทางเรือ อาหารทะเล เทคโนโลยีสารสนเทศ การท่องเที่ยว ธุรกิจบริการทางการแพทย์ และยังเป็นที่ตั้งของศูนย์บัญชาการกองทัพเรือภาคใต้แห่งกองทัพเรืออินเดียด้วย

2. เมือง Kozhikode หรือ Calicut

เป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดลำดับสามของรัฐเกรละ ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของรัฐเกรละและห่างจากเมืองธิรุวะนันทปุรัม ประมาณ ๔๑๐ กิโลเมตร  ในอดีตเมือง Kozhikode ได้ชื่อว่าเป็น “City of Spices” ในฐานะที่เป็นจุดค้าขายเครื่องเทศทางฝั่งตะวันออกของอินเดีย  ขณะที่ในปัจจุบัน เมือง Kozhikode เป็นเมืองการค้าและธุรกิจที่สำคัญทางตอนเหนือของรัฐ และเป็นที่ตั้งของ Cyber Parks และ IT Parks

3. เมือง Kollam

เป็นเมืองท่องเที่ยว และศูนย์กลางการค้ามะม่วงหิมพานต์ อาหารทะเลที่สำคัญของอินเดีย

ข้อมูลพื้นฐานทางการเมือง/รูปแบบการปกครองของรัฐเกรละ

ผู้นำสำคัญของรัฐ

ผู้นำสำคัญของรัฐประกอบด้วยผู้ว่าการรัฐ (Governor) ซึ่งตามรัฐธรรมนูญถือเป็นผู้นำของรัฐ ได้รับการแต่งตั้งโดยตรงจากประธานาธิบดี ตามข้อเสนอแนะของพรรคการเมืองที่เป็นพรรครัฐบาล มีอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งถอดถอนมุขมนตรีและคณะรัฐมนตรีประจำรัฐ แต่งตั้งอัยการประจำรัฐ เรียกประชุมและยุบสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ ให้ความเห็นชอบและยับยั้งร่างกฎหมายของรัฐ มีอำนาจลดโทษและให้อภัยโทษ ขณะที่มุขมนตรีแห่งรัฐ (Chief Minister) ถือเป็นผู้นำรัฐบาลและหัวหน้าคณะรัฐมนตรีแห่งรัฐ (Council of Ministers)  และหัวหน้าผู้พิพากษา ศาลสูงแห่งรัฐเกรละ (Chief Justice of High Court of Kerala) ถือเป็นผู้นำด้านตุลาการ

Shri. Justice P. Sathasivam

ผู้ว่าการรัฐเกรละ

 

รับตำแหน่งเมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๘

 

Mr. Oommen Chandy

มุขมนตรีแห่งรัฐเกรละ

 

 

รับตำแหน่งเมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๕

สังกัดพรรค United Democratic Front (UDF)

 

Dr. Manjula Chellur

หัวหน้าผู้พิพากษาศาลสูงแห่ง รัฐเกรละ

รับตำแหน่งเมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๕๕

 

 ปัจจุบัน สภาผู้แทนราษฏรของอินเดียหรือโลกสภามีสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากรัฐเกรละรวม ๒๐ คน ขณะที่สภานิติบัญญัติแห่งรัฐเกรละ (Kerala Legislative Assembly) มีสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งภายในรัฐ รวม ๑๔๐ คน สภานิติบัญญัติแห่งรัฐเกรละทำหน้าที่ออกกฎหมายภายในรัฐ และพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากในสภานิติบัญญัติแห่งรัฐเกรละ จะเป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาลแห่งรัฐ

ปัจจุบัน พรรคการเมืองที่มีสมาชิกมากที่สุดในสภานิติบัญญัติแห่งรัฐเกรละและได้จัดตั้งรัฐบาลแห่งรัฐเกรละ  คือ พรรค United Democratic Front (UDF) โดยมีสมาชิกสภาฯ ที่ได้รับการเลือกตั้งรวม ๗๕ คน  ขณะที่พรรคอื่นที่ได้รับเลือกตั้งทำหน้าที่ฝ่ายค้านได้แก่ พรรค Left Democratic Front (LDF) มีสมาชิกในสภานิติบัญญัติแห่งรัฐเกรละรวม ๖๕ คน  ทั้งนี้ การเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐเกรละครั้งหน้ากำหนดให้มีขึ้นในปี ๒๕๕๙

ข้อมูลพื้นฐานด้านเศรษฐกิจ

รัฐเกรละเป็นรัฐที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นลำดับหกของอินเดีย โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมของรัฐ (GSDP) ในช่วงปี ๒๕๕๕-๒๕๕๖ มีมูลค่ารวม ๖๖.๖ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยร้อยละ ๑๔.๔ และมีรายได้เฉลี่ยประชากรของรัฐอยู่ที่ ๑,๘๔๐.๗ ดอลลาร์สหรัฐต่อปี

ในช่วงปี ๒๕๕๖-๒๕๕๗  มูลค่าการลงทุนรวมของรัฐเกรละเท่ากับ ๔๘ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีมูลค่าของการลงทุนทางตรงของต่างประเทศ (FDI) สะสมตั้งแต่ปี ๒๕๔๓-๒๕๕๗ รวมประมาณ ๑.๐๙ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยภาคธุรกิจบริการมีการลงทุนมากที่สุดร้อยละ ๕๔.๕ ตามด้วยการลงทุนในภาคการผลิต ร้อยละ ๒๘  โดยการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐได้แก่ โครงการสร้างท่อก๊าซ (Supplementary Gas Infrastructure Project) มูลค่าการลงทุน ๔๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โครงการ Kochi Metro Rail มูลค่า ๙๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และโครงการสร้างรถไฟฟ้าโมโนเรลในเมืองธิรุวะนันทปุรัม มูลค่า ๖๘๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 รัฐเกรละได้ชื่อว่าเป็น God’s own Country เนื่องจากมีความสวยงามทางธรรมชาติ จึงเป็นรัฐที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวมาเยือนจำนวนมาก และเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของรัฐ โดยรายได้ในปี ๒๕๕๖-๒๕๕๗ ของรัฐเกรละเท่ากับ ๔ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณเกือบร้อยละ ๑๐ ของ GDP ของรัฐ  

นอกจากนี้ รัฐเกรละยังเป็นแหล่งผลิตผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากยางพารา พริก มะพร้าว และกาบมะพร้าว และยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมประเภทอื่นด้วย อาทิ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ ฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีชีวภาพ

รัฐเกรละมีท่าเรือรวม ๑๘ แห่ง ที่สำคัญคือ ท่าเรือ Cochin ซึ่งเป็นท่าเรือขนส่งหลัก อย่างไรก็ดี  รัฐเกรละกำลังอยู่ระหว่างก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่ซึ่งห่างจากตัวเมืองธิรุวะนันทปุรัมไปทางตอนใต้ราว ๑๗ กิโลเมตร  นอกจากนี้ รัฐเกรละมีท่าอากาศยานรวม ๓ แห่ง ที่เมืองธิรุวะนันทปุรัม  เมือง Kochi และเมือง Kozhikode

***********************

รายงานโดยนางสาวพรพิมล สุคันธวณิช

สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน

                             ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๘